วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิธีการปลูก บวบ ฟักทอง มะระ แตงกวา ถั่วฝักยาว

วิธีการปลูก บวบ ฟักทอง มะระ แตงกวา ถั่วฝักยาว


การเตรียมแปลงปลูก
1. ไถดินตากแดดประมาณ 7 -10 วัน เพื่อทำลายวัชพืชและศัตรูพืชที่อยู่ในดิน ไถพรวนซ้ำอีก 1-2 ครั้ง
2. เตรียมดินโดยหว่านปูนขาวในอัตรา 100 – 300 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกอัตรา 2,000 – 2,500 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยสูตร15-15-15 อัตรา 30 - 50 กิโลกรัม/ไร่
3. ยกแปลงสูง 4-5 นิ้ว กว้าง 120 ซม. ความยาวตามลักษณะของพื้นที่ ขุดหลุมปลูกระยะปลูก ระหว่างต้น 75 ซม ระหว่างแถว 100 ซม.

การเตรียมพันธุ์
ซื้อพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการบรรจุหีบห่อที่สามารถป้องกันความชื้นและอากาศจากภายนอก มีการระบุวันหมดอายุที่ชัดเจน กรณีคัดเลือกพันธุ์ใช้เอง ควรคัดเลือกพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงโดยนำเมล็ดพันธุ์ที่คัดเลือกไว้คลุกสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ก่อนเก็บรักษาในภาชนะที่ป้องกันความชื้น เพื่อนำมาใช้ในฤดูกาลต่อไป

การปลูก มี 2 วิธี ดังนี้
1. การเพาะกล้า
- เตรียมดินเพาะกล้า อัตราส่วนดิน : ปุ๋ยคอก 2:1 คลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ในถาดหลุมเพาะเมล็ด เพื่อเตรียมหยอดเมล็ดต่อไป
- การเตรียมเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดแช่น้ำอุ่น อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียล ประมาณ ครึ่งชั่วโม วางในอุณหภูมิห้อง หลังเมล็ดงอกมีรากยาวประมาณ 0.5 ซม. จึงนำไปเพาะต่อไป
- นำเมล็ดที่เตรียมไว้หยอดลงแต่หลุมเพาะเมล็ด 1 เมล็ด/หลุม กลบดินประมาณ 1 ซม.
- นำถาดเพาะกล้าไปใว้ในบริเวณที่ไม่มีแดดจัด หรือมีวัสดุพลางแสง รดน้ำทันทีด้วยบัวฝอย หมั่นตรวจดูความชื้น โรค แมลงศัตรูพืช และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
- เมื่อมีใบจริง 3-4 ใบ ย้ายปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ระยะปลูกตามความเหมาะสมของแต่ละพืช คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่มพร้อมทำค้างทันที

2. การหยอดเมล็ด
- เมื่อเตรียมดินและหลุมปลูกแล้ว หยอดเมล็ด 3-4 เมล็ด กลบดิน คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่ม พร้อมทำค้างทันที

การทำค้าง
การทำค้างสำหรับพืชตระกูลแตง ได้แก่ บวบ แตง ฟัก น้ำเต้า มะระ ตำลึง พืชเหล่านี้มีมือจับเกาะยึดและทำหน้าที่ค้ำยันเถา พืชเหล่านี้มีเถาเลื้อยคลุมและมีแขนงมากมาก ต้องมีการทำค้างเพื่อลดการใช้พื้นที่ และสะดวกในการดูแลรักษา ของแตง บวบ ฟัก แฟง มะระ โดยใช้ไม้ไผ่ที่มีลำต้นตรง ความยาว 2.5 เมตร ปักตั้งฉากกับพื้นดินให้ลึกลงไปในดิน 50 ซม. สูงเหนือผิวแปลง 2 เมตร หลุมละ 1 ค้าง ถ้าปลูกแตง 5 หลุมก็ใช้ 5 ค้าง แล้วใช้ไม้ค้างประเภทเดียวกันประกบส่วนปลายค้างให้ต่ำกว่าปลายค้าง 25 ซม. ให้ไม้ค้างที่ประกบขนานกับผิวแปลง แล้วใช้ไม้คำยันหัวท้ายข้างละ 2 อันไขว้ไม้ค้ำยันตรงบริเวณที่ไม้ประกบมัดติดกับปลายไม้ค้างส่วนบน ให้โคนไม้ค้ำยันห่างจากไม้ค้างที่ปักข้างละ 20 ซม. เพื่อใช้ยึดต้นพืชและกันการกระพือของลมแรง และรับน้ำหนักเถาแตงได้เต็มที่

ควรปักค้างทันทีที่หยอดเมล็ดดีกว่าปักเมื่อมีต้นพืชงอกขึ้นมาแล้ว เพราะไม้ค้างที่ปักในภายหลังอาจทำให้รากพืชขาดเสียหายได้ นอกจากนี้การปักค้างก่อนยังช่วยบอกตำแหน่งของหลุมที่ต้นพืชจะงอกขึ้นมาด้วย

แตงชนิดต่างๆ เมื่อทอดเถาออกไปก็จะมีเถาแขนง แตกออกด้านข้างด้วย ควรเลือกเถาแขนงที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับเถาหลักไว้ ตัดเถาที่มีขนาดเล็กทิ้งไป เพื่อไม่ให้มีการแย่งอาหารกันและป้องกันการเกิดโรคและแมลง เถาแขนงที่เลือกไว้จะผูกกับเชือกฟางพลาสติกที่ขึงตึงระหว่างไม้ค้างแต่ละค้าง ซึ่งจะขึงเป็นชั้นๆห่างกันชั้นละ 30 ซม. จำนวน 4 ชั้น เมื่อแตงมีผลที่มีขนาดโตขึ้น เช่น ฟักทอง แตงไทย ฟักเขียว ซึ่งผลมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ควรใช้เชือกฟางผูกที่ก้านผลแตงแล้วโยงเชือกมาผูกไว้กับไม้ค้างที่ประกบไว้ด้านบนของค้าง เพื่อช่วยไม่ให้เถาแตงต้องรับน้ำหนักผลมากเกินไป

สำหรับถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วเหล่านี้เวลาขึ้นค้างไม่มีมือสำหรับจับเกาะเหมือนเถาแตง แต่จะใช้เถาพันไม้ค้างในลักษณะเวียนไปทางขวา จึงต้องช่วยเก็บเถาถั่วพันกับค้างในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเสมอลักษณะการเลื้อยพัน ชอบพันค้างในแนวตั้งมากกว่าในแนวนอน การปักค้างถั่วให้ตั้งฉากกับพื้นดิน เป็นสองแถวคู่กันบนแปลงและมีไม้ค้ำยัน หัวแปลงจนท้ายแปลง ทุกๆความยาว 2 เมตร จะทำให้เก็บฝักถั่วง่าย สะดวกในการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช การปักค้าง ควรปักหลุมละ 1 ค้าง หลังจากหยอดเมล็ดเสร็จเรียบร้อยไม่ควรปักค้างขณะที่ต้นถั่วเริ่มเลื้อยเพราะจะทำให้รากถั่วขาดช้ำเสียหายได้

การทำค้างมีหลายแบบอาจเป็นแบบปักตั้งตรงเดี่ยวๆ ปักแบบกระโจม (4 หลุมต่อกระโจม) ปักแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไป หรือแบบซุ้มโค้งก็ได้ ตามความต้องการ ความสะดวก และวัตถุประสงค์ของผู้ปลูก



การให้ปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 ระหว่างเตรียมดิน และช่วงออกดอก อัตรา 30-50 กก./ไร่
- ใส่ปุ๋ย 46-0-0 เมื่อกล้ามีอายุ 7-15 วัน อัตรา 30 กก./ไร่
- ใส่ปุ๋ย 13-13-21 เมื่อติดผล อัตรา 30 กก./ไร่
โดยโรยสองข้างของแถวปลูก พรวนดินกลบและให้น้ำตามทันท

การให้น้ำ : หลังย้ายกล้าปลูกให้น้ำทันที หมั่นตรวจดูความชื้นและให้น้ำสม่ำเสมอ

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
หมั่นตรวจแปลงเพื่อดูการเข้าทำลายของแมลงเมื่อพบสามารถป้องกันการเข้าทำลายของแมลงด้วยการฉีดพ่นสารสกัดจากผลสะเดา หรือน้ำส้มควันไม้ หากระบาดมากอาจฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

โรคที่สำคัญ คือโรคราน้ำค้าง,ราแป้ง,โรคเหี่ยว,โรครากเน่าโคนเน่า และแมลงที่สำคัญ คือ ด้วงเต่าแตง, แมลงหวี่ขาว,เพลี้ยอ่อน,เพลี้ยไฟ,แมลงวันทองหรือแมลงวันแตง

การเก็บเกี่ยว
- ฟักทอง อายุประมาณ 80-90 วันหลังเมล็ดงอก
- ฟักเขียวหรือแฟง อายุประมาณ 60-70 วันหลังเมล็ดงอกโดยสังเกตสีเปลือก สีกลมกลืนเป็นสีเดียวกันดูนวลขึ้นเต็มผล การเก็บควรเหลือขั้วติดไว้ด้วย เพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น
- บวบ อายุประมาณ 40-45 วันหลังปลูก โดยเก็บผลที่มีขนาดพอเหมาะไม่อ่อนหรือแก่เกินไป โดยเก็บเกี่ยวให้มีขั้วบวบติดมากับผลด้วย
- แตงกวา อายุประมาณ 30-40 วันหลังปลูก ควรเก็บขณะที่ผลยังอ่อน สังเกตได้จากมีนวลสีขาวเกาะและยังมีหนามอยู่บ้าง

ขอบคุณ : กลุ่มส่งเสริมการผลิตผัก สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรก้าวหน้า

Cr. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1502223600099612&set=a.1414639892191317.1073741828.100009359596856